
โครงการศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน (ฟาร์มเอาต์เล็ต : Farm Outlet) ได้จัดตั้งขึ้นตั้งเมื่อปี 2552 เพื่อเป็นศูนย์กลางให้กับเกษตรกรได้นำผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปมาจำหน่าย เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและพัฒนาตนเองได้ ตลอดจนสร้างรายได้หมุนเวียนภายในท้องถิ่นของตน จนกระทั่งปัจจุบัน ได้มีการพัฒนา “ศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน Farm Outlet ต้นแบบ” จำนวน 15 แห่ง และในปี พ.ศ. 2563 มีการพัฒนาเพิ่มแล้ว 16 แห่ง รวมเป็น 21 แห่ง (คมชัดลึก, 2564) ส่วนฟาร์มเอาท์เลตปัตตานี เป็นผลลัพธ์ของความร่วมแรงร่วมใจระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเกิดจากการผนึกกำลังของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดปัตตานี และบริษัทประชารัฐรักสามัคคีปัตตานี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด โครงการนี้มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งการดำเนินงานของฟาร์มเอาท์เลตอาศัยความเชี่ยวชาญของคณะทำงานที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาธุรกิจในพื้นที่ ผสานกับกลยุทธ์ทางการตลาดสมัยใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การพัฒนาและเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้แก่สินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์โดดเด่นจากชุมชน อีกทั้งโครงการนี้มุ่งเน้นการสร้างตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและกระตุ้นความนิยมในท้องถิ่น โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังเป็นแพลตฟอร์มในการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัดปัตตานี และในภาพรวมฟาร์มเอาท์เลตปัตตานีเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และ Farm Outlet แห่งนี้ได้มีพิธีเปิดร้านในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งมีบุคคลสำคัญจากหลายหน่วยงานมาร่วมเปิดพิธี (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทุ่งยางแดง, 2561)