
กลุ่ม MELAYU LIVING ก่อตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 โดยเริ่มจากกลุ่มสถาปนิกในท้องถิ่นที่ต้องการขยายการทำงานในภูมิภาคมากขึ้น ต่อมาจึงมีผู้คนจากหลายอาชีพเข้าร่วมทำงานอาสา สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่เป็นสถาปนิกจากจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึงช่างภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ และคอลัมนิสต์ ซึ่งบางคนเติบโตในพื้นที่ หรือเรียนจบจากกรุงเทพฯ และต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มนี้มีสมาชิกทั้งหมด 18 คน โดยมีราชิต ระเด่นอะหมัด เป็นประธานกลุ่ม และทีมงาน ซึ่งประกอบไปด้วย ส้ม – ดวงตา ระเด่นอาหมัด, ดี้ – สมโภช เจ๊ะอาลีม, อลิศ – อัลอลิศ หะยีอาแว, จ้ำ – บศกร บือนา และ กอบ – ประกอบ กาซันการัดชอ (Nada Inthaphunt, ม.ป.ป.; Ployrung Sibplang, 2022) พวกเขาจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบ ซึ่งเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวันของทุกคน และส่งเสริมให้สมาชิกสามารถพัฒนาต่อไปตามความถนัดของตนเอง นอกจากนี้กลุ่ม MELAYU LIVING ยังให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งคนจีน คนไทย และคนมุสลิม โดยไม่แบ่งแยก ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในพื้นที่ชายแดนใต้
สมาชิกท่านหนึ่ง คือ คุณจ้ำ บุษกร ยูนา อธิบายว่า “Melayu Living เหมือนเป็นกลุ่มรุ่นพี่รุ่นน้องที่รู้จักกัน มีเป้าหมายเดียวกันที่อยากจะทำกิจกรรมให้เมืองของตนเอง ถ้าทำคนเดียวอาจไม่เกิดกิจกรรมขึ้นแบบนี้ พอเรามีกลุ่มคนที่ต่างรู้จักกัน ต่างมีวิชาชีพที่แตกต่างหรือใกล้เคียงกัน ก็สามารถทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบต่าง ๆ” การรวมกลุ่มผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านในพื้นที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยแต่ละกลุ่มมีเป้าหมายที่ไม่ต่างกันมากนัก อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของ Melayu Living มาจากการรวมกลุ่มสถาปนิกในพื้นที่ ก่อนจะขยายการรับสมาชิกจากหลากหลายอาชีพ ซึ่งทำให้ทิศทางการทำงานของกลุ่มไม่ถูกจำกัด ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันที่กลุ่มอยู่มาเกือบ 4 ปี สถานที่ตั้งและบริเวณการทำกิจกรรมหลักของกลุ่มอยู่ในอาคารย่านเมืองเก่าติดกับร้านคาเฟ่ In_t_af เจ้าของอาคารซึ่งเป็นคนปัตตานีเดิมมีความเต็มใจให้ใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ตามเป้าหมายของกลุ่ม คุณราชิตได้กล่าวถึงเป้าหมายของกลุ่มว่า “เป้าหมายของกลุ่มที่มีตอนแรกคือ การเผยแพร่วิชาชีพสถาปัตยกรรม และเพิ่มเรื่องการเชิดชูยกย่องคนที่ทำงานในพื้นที่ ทำงานศิลปะ ทำงานสร้างสรรค์ บุคคลที่มีคุณค่า เราพยายามที่จะพูดถึงเรื่องพวกนี้ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือ เราต้องการให้พื้นที่มีจุดหรือสถานที่ที่พูดเรื่องงานสร้างสรรค์ เพราะว่าในขณะที่คนนอกมองพื้นที่ของเราว่ามีแต่ข่าวความรุนแรง เราอยากจะเป็นเสียงหนึ่งที่จะพูดอีกด้านให้คนภายนอกรับรู้”
การเดินทางของกลุ่ม Melayu Living สะท้อนแนวคิดที่แตกต่างจากองค์กรทั่วไป พวกเขาไม่ได้มุ่งหวังที่จะเติบโตเป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือสร้างโครงสร้างที่เป็นทางการ อีกทั้งไม่ได้ยึดติดกับความคงอยู่อย่างยั่งยืนในระยะยาว แต่กลับให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลงานในขนาดที่พวกเขาจัดการได้ สิ่งที่ Melayu Living ให้ความสำคัญคือการใส่ใจในรายละเอียดของงานที่ทำ โดยมุ่งนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมิติต่าง ๆ ของเมือง การสร้างสรรค์ และสันติภาพ พวกเขาเชื่อในการเติบโตตามธรรมชาติ ไม่เร่งรีบหรือฝืนกระแส จุดประสงค์สำคัญของกลุ่มคือการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้คนที่มีต่อการออกแบบ พวกเขาต้องการสื่อสารว่าการออกแบบไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือสิ่งฟุ่มเฟือย แต่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่แทรกซึมอยู่ในทุกอณูของการใช้ชีวิต เป็นสิ่งที่จับต้องได้และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน ด้วยแนวคิดเช่นนี้ Melayu Living จึงเป็นตัวอย่างของกลุ่มที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านความเรียบง่ายและความจริงแท้ (Nada Inthaphunt, ม.ป.ป.)